จากกรณีที่ กระแต-อาทิตยา เอี่ยมแย้ม พริตตี้วัย 33 ปี ผู้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราจากการฉีดคอลลาเจนเข้าสะโพก
โดยหมอกระเป๋าอย่าง ป๊อบ-ธนัช ณัฐวีระกุล ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม บ้างก็ก่นด่าคนที่หารายได้จากอาชีพนี้ บ้างก็สงสารที่หญิงสาวเสาหลักของครอบครัวต้องโชคร้าย
แต่น้อยคนนักจะโทษว่าเป็นความผิดของคนที่ฉวยโอกาสเห็นแก่ได้จนไม่นึกถึงความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์
ได้โอกาส จึงต่อสายไปยัง “สต็อป-ศรัณย์รักษ์ ศิริรำไพวงษ์” เพื่อสอบถามเรื่องการศัลยกรรมในวงการพริตตี้ ในฐานะที่เธอเป็นรุ่นพี่ อยู่ในวงการมาเกือบ 10 ปี ทว่ายังมีผลงานออกมาให้ชื่นชมกันไม่ขาดสาย
น้อยรายนักที่จะไม่รู้จักเธอ สต็อป พริตตี้เงินล้าน หรือ สต็อป พริตตี้เบอร์ 1 ของไทย
สต็อป เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2527 และเติบโตในต่างจังหวัด มีพี่สาว 1 คน เธอเป็นน้องคนเล็กจึงชื่อว่าสต็อป
ช่วงประถมถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 อาศัยอยู่กับคุณย่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วก็ย้ายไปอยู่กับพ่อซึ่งรับราชการเป็นนายอำเภออยู่ที่จังหวัดอุดรธานี กระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
เข้ามาเรียนด้านสื่อสารมวลชนที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างอยู่ปี 3 ก็ไปบ้านเพื่อนและเจอกับพี่สาวของเพื่อนที่ทำงานเป็นพริตตี้ และชักชวนให้สต็อปเข้าวงการพริตตี้เพราะรูปร่างหน้าตาและรอยยิ้มที่น่ามอง เธอบอกว่าตอนนั้นไม่รู้จักเลยว่าพริตตี้คืออะไร
แต่เมื่อสอบถามจนเข้าใจแล้วเธอก็เริ่มงานแรก และมีรายได้ก้อนแรกจากงานนี้ 1,500 บาท
หลังจากนั้นก็รับงานมาเรื่อยๆ ทั้งพริตตี้ เอ็มซี พรีเซ็นเตอร์ ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ซิทคอม ฯลฯ งานเยอะจนมีคนขนานนามว่า พริตตี้เงินล้าน
ระหว่างนั้นครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อก็เป็นห่วงเรื่องการเรียน แต่เมื่อเธอคว้าปริญญาตรีมากอด ตามด้วยปริญญาโทด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาครองอีก 1 ใบแล้ว ครอบครัวของเธอก็คลายความกังวล
หากไม่ได้เป็นพริตตี้ ต็อปก็คงมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง พริตตี้สาวหน้าหวานตอบเสียงใส แฝงรอยยิ้มและลักยิ้มเปี่ยมเสน่ห์
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เธอก็มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเองที่หุ้นกับเพื่อน ทั้งร้านส้มตำที่ไปได้สวย โมเดลลิ่งที่เตรียมจะจดทะเบียนบริษัท และขายเครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นเอง
ส่วนเรื่องการศัลยกรรมในวงการพริตตี้ที่กลายเป็นประเด็นฮอตในขณะนี้ เธอบอกว่าคนในวงการนี้ส่วนใหญ่ก็ทำกัน ดารา นักร้อง นักแสดง หรือคนในสังคมทั่วไปก็ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเคยทำจมูกและฉีดโบท็อกซ์เพื่อให้ถ่ายภาพออกมาดูดี
มีโอกาสพูดคุยกับเธอถึงที่บ้าน เธอเปิดประตูออกมาต้อนรับด้วยรอยยิ้มและท่าทางเป็นกันเองก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
อยากรู้แล้วใช่ไหมว่าเธอมีความคิดเห็นต่อ “การศัลยกรรม” เรื่องที่หลายคนมองว่าเสี่ยงอย่างไร?
ทันทีที่ทราบข่าว “กระแต-อาทิตยา เอี่ยมแย้ม” ที่กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราจากการฉีดคอลลาเจนกับหมอกระเป๋าอย่าง “ป๊อบ-ธนัช ณัฐวีระกุล” รู้สึกอย่างไร?
: ตกใจ เพราะว่าเป็นคนในวงการเดียวกัน และการใช้บริการหมอเถื่อนก็มีบ้างเพราะราคาถูก แต่ไม่คิดว่าจะมีผลร้ายแรงอย่างกรณีของกระแต
ทราบว่าพี่เขาดูแลทางบ้าน เป็นเสาหลักของบ้านส่งเสียครอบครัว น้องที่เคยทำงานด้วยและรู้จักกันบอกว่าพี่กระแตเป็นคนนิสัยดี สนุกสนาน คอยสอนงานน้องๆ ว่าต้องทำอย่างไร
มีมุมมองต่อการศัลยกรรมอย่างไร?
: ส่วนตัวต๊อปมองเรื่องศัลยกรรมเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แอนตี้ เพราะสมัยนี้ การศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล
แต่รู้ว่าสมัยนี้มีหมอเถื่อน หรือหมอกระเป๋าเยอะ เพราะราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เราเคยฉีดโบท็อกซ์กับแพทย์ที่มีใบรับรองถูกตามกฎหมายครั้งหนึ่งราคาหมื่นห้า ส่วนเพื่อนที่ฉีดกับหมอเถื่อนราคาห้าพันบาท ถูกกว่าเยอะ
จากกรณีของพี่กระแต อยากเตือนทุกคนว่าน่าจะทำกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ดีกว่า
ทำไมหลายคนกล้าทำสวยกับหมอเถื่อน?
เคยถามน้องคนหนึ่งที่ฉีดจมูกกับหมอเถื่อนว่า ทำไมไม่ทำจมูกเลย (ใส่ซิลิโคน) น่าจะดีกว่า เพราะถ้าฉีด (ของเหลว) ไม่ดี จะแก้ลำบาก เอาออกลำบาก
แต่ถ้าทำใส่ซิลิโคนเข้าไปสามารถเอาออกมาเหลาใหม่หากไม่พอใจได้
แต่คนที่ทำกับหมอเถื่อน อาจเป็นเพราะบอกกันปากต่อปาก เห็นคนอื่นทำแล้วสวย ดี ถูก จึงอยากทำบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าหมอกระเป๋าบางคนก็ฝีมือดีจริง
ทำให้คนออกมาสวยขึ้นจริงๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะมีผลอย่างไร
อย่างแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง ก็ยังไม่สามารถมั่นใจในความปลอดภัยและความสวยงามได้ 100 เปอร์เซ็นต์
ต้องดูว่าฝีมือดีจริงหรือเปล่า บางคนเก่งตา บางคนเก่งจมูก หรือหมอคนเดียวกันแต่คนหนึ่งทำออกมาสวยอีกคนทำออกมาไม่สวย จึงต้องใช้เวลาศึกษาก่อนจะตัดสินใจ
คนในวงการพริตตี้ ต้องทำทุกคน?
: ตอนอยู่ในวงการนี้แรกๆ (เกือบ 10 ปีที่แล้ว) น้องๆ ที่เข้ามาในวงการก็สวยธรรมชาติ อย่างมากก็เสริมจมูก แต่เมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญรุดหน้ามากขึ้น
เด็กก็สวยเร็ว สวยง่ายขึ้น เด็กหน้าใหม่ในวงการก็เข้ามาเยอะขึ้น
อย่างเบสิกที่ทำกันสมัยก่อนคือ จมูก ต่อมาก็ทำตา แล้วก็ทำหน้าอกซึ่งแต่ก่อนมองว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติแล้ว ตอนนี้ก็มีทุบโหนกแก้ม ตัดปากให้บาง
เคยเห็นบางคนตัดปากมาแล้วจากคนที่เคยยิ้มสวยก็ยิ้มแบบปากเบี้ยว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้, การฉีดก็มีแทบทุกคน มีทั้งเมโส คือฉีดสลายไขมัน, โบท็อกซ์ ฉีดที่หน้าให้กรามเล็กลง,
ส่วนฟิลเลอร์และคอลลาเจน เป็นการฉีดเพื่อเติมให้เนื้อเฉพาะส่วนเยอะขึ้น เช่น แก้ตาลึก ตาโบ๋ ลดร่องแก้ม, การกิน ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อลดน้ำหนัก
ส่วนกลูต้าไธโอน ที่หลายคนนิยมฉีดเพื่อให้ผิวขาวนั้น มีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง แต่ก็ยังมีคนฉีดเพราะค่านิยมของคนไทยที่คิดว่าพริตตี้ต้องขาว
บางคนฉีดจนตัวขาวแต่หน้าเป็นสิว หลังเป็นสิว อย่างนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร บางคนก็เข้ากับผิวสีน้ำผึ้งที่มีอยู่มากกว่า
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยยอมรับและนิยมทำศัลยกรรมคือ กระแสเกาหลีฟีเวอร์ในประเทศไทย ซึ่งมาพร้อมกับวิทยาการทางด้านศัลยแพทย์ ต้องยอมรับว่าเกาหลีเป็นเบอร์ 1 ด้านนี้
คนที่อยู่วงการนี้ ถ้าไม่สวย ก็ลำบาก ส่วนใหญ่เลยต้องไปทำเพราะคนที่อยู่มานานแล้วจะไม่เฟรซ กลัวสวยสู้เด็กไม่ได้ เลยต้องอัพตัวเอง
คนที่มาเป็นพริตตี้ นอกจากมีรูปสมบัติแล้ว ต้องมีคุณสมบัติอะไรอีก?
: หนึ่งคือรูปร่างหน้าตา ไม่ต้องสวยเพอร์เฟ็กต์ สองคือบุคลิกดี รูปร่าง การพูด มีไหวพริบปฏิภาณ เพราะเราต้องโชว์ตัว และสามคือมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
สต๊อปอยู่ในวงการนี้มา 9 ปีแล้ว ถือว่านานและใกล้จะอิ่มตัว อายุจะ 30 ปีแล้ว มีปัญหาด้านการยืนคือยืนนานๆ แล้วปวดหลัง เลยไม่รับงานที่ยืนนานๆ มา 4-5 ปีแล้ว รับแต่งานมอเตอร์โชว์ เอ็มซี
ตอนนี้ก็ทำโมเดลลิ่งกับเพื่อน สอนน้องรุ่นใหม่ๆ ว่าต้องทำตัวอย่างไร วิธีการพูด ทักษะ บุคลิก เริ่มทำเมื่อต้นปีเป็นงานเสริม
เพราะปกติเราเป็นพริตตี้เป็นการทำงานกับตัวเองเพื่อให้ผลงานออกมาดี ส่วนโมเดลลิ่งเราต้องทำงานกับคนอื่น ซึ่งการทำงานกับคนเป็นเรื่องยากที่สุด โดยเฉพาะกับวัยรุ่นสาวๆ สวยๆ ต่างคนก็ต่างกัน
จึงต้องฝึกเรื่องการดูแลคน การโน้มน้าวคนให้เขาอยากทำงานกับเรา ให้งานออกมามีประสิทธิภาพนั้นออกมาจะต้อทำอย่างไร เหมือนเป็นอีกลุคหนึ่ง
พริตตี้มีงานประจำทำไหม?
: มี คือคนที่เป็นพริตตี้ก่อน เป็นที่รู้จักระดับหนึ่งแล้วหันไปทำงานประจำ สามารถเลือกรับงานวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดได้
แต่คนที่ทำงานประจำแล้วจะเป็นพริตตี้ยาก เพราะไม่สามารถเลือกรับงานได้ คืองานเข้ามาน้อย อาจจะตรงกับเวลาทำงาน
วงการนี้มีช่วงอายุในการทำงานไหม?
: จาก 19 ถึง 30 กว่าก็ยังทำ วงการพริตตี้เป็นวงการที่กว้าง แต่แคบเฉพาะกลุ่ม คือคนเป็นพริตตี้มีเยอะ แต่รู้จักกันแค่กลุ่มๆ เดียวที่เคยร่วมงานกัน แต่เด็กใหม่ที่เข้ามาก็ไม่รู้จัก
จริงๆ สต๊อปก็ไม่ได้วางตัวว่าเป็นรุ่นพี่ อย่างน้องๆ พริตตี้ คนในซันยองเองก็สนิทกัน ที่ซันยองเราดูแลการผลิตพริตตี้ทุกอย่าง
ตั้งแต่การแคสติ้ง เจ้านายไว้ใจให้หาชุด หาแบบ หาพริตตี้ สคริปต์ต่างๆ ว่าใครพูดอย่างไร ดูแลหมดทุกอย่าง น้องทุกคนบอกว่า เห็นต็อปครั้งแรกแล้วกลัวมาก เพราะตอนทำงานเราก็จริงจัง น้องจึงค่อนข้างเกรงนิดหนึ่ง
มีผู้ชายเป็นพริตตี้ด้วย?
มี “พริตตี้บอย” เมื่อผู้ชายชอบดูผู้หญิงสวย ผู้หญิงก็ชอบดูผู้ชายหล่อ เช่น ผลิตภัณฑ์กางเกงใน การรณรงค์ออกกำลังกาย สร้างซิกแพ็กจะให้ผู้หญิงมาเป็นพริตตี้ก็ไม่ได้
พริตตี้บอยมีมานาน อย่างเมื่อ 9 ปีที่แล้วก็มี แต่ไม่แพร่หลาย คนไม่นิยมเรียกใช้งาน เพราะงานส่วนใหญ่คนชอบมองผู้หญิงมากกว่า
เพราะเป็นเพศที่มีความสวยงาม มีความน่าดึงดูดใจ ผู้หญิงบางคนยังชอบดูผู้หญิงสวยกันเอง แต่อาจจะเขินเมื่อมองพริตตี้บอยนานๆ
บางคนบอกว่าพริตตี้ เป็นงานของคน “สวยใส ไร้สมอง” มองอย่างไร?
: พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก ทุกคนที่มาทำงานนี้ไม่ใช่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา เพียงแต่ชอบทำงานด้านนี้คือแต่งตัวสวยๆ ได้โพสท่าถ่ายภาพ
แล้วทุกคนก็ต้องอ่านสคริปต์ เรียนรู้และทำความเข้าใจสินค้าทุกอย่าง ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา
ความสนใจเหตุบ้านการเมืองก็แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคนมากกว่า เพียงแต่ว่างานของเราอาจไม่ใช่ด้านวิชาการ หรืองานวิจัย แต่ว่าเราถนัดทางนี้ คนที่คิดอย่างนี้ก็อยากให้ลองมาทำดู
ก่อนมาเป็นพริตตี้ มองวงการนี้อย่างไร?
ไม่เคยรู้จักเลยว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นคนต่างจังหวัด พอเข้ามาเรียน ม.หอการค้าไทย ก็มีพี่สาวของเพื่อนชวนไปทำตอนปี 3
งานแรกเป็นงานแจกของรางวัล ได้ 1,500 บาท ดีใจมากเลย จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ
บางคนมองว่าไม่ต้องมีพริตตี้ก็ขายสินค้าได้?
: บางสินค้าไม่มีพริตตี้ก็ได้ เช่น อาหารสุนัข คือต้องขายแบบฮาร์ดเซลล์ ต้องยอมรับว่าขึ้นอยู่กับลูกค้า บางคนก็ไม่ได้มองว่าพริตตี้มีส่วนช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
แต่ในความคิดของต๊อป ถามว่าพริตตี้ช่วยกระตุ้นยอดขายไหม แม้ว่าจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พริตตี้ก็สร้างการรับรู้ของคนที่เดินผ่านไปมา เราได้ป่าวประกาศ ประชาสัมพันธ์ แม้ไม่ได้ซื้อแต่ก็รับรู้ว่ามีแบรนด์นี้อยู่
ตลอดการทำงานในวงการเกือบ 10 ปี งานอะไรที่คิดว่ายากที่สุด?
งานพิธีกรที่ทำคู่กับดารา ถ้าทำคู่กับพริตตี้ด้วยกันจะไม่มีแรงกดดัน แต่ถ้าต้องคู่กับพิธีกรที่เป็นนักแสดงและมีชื่อเสียงแล้วจะยิ่งประหม่า
เคยเป็นพิธีกรงานใหญ่ของทีวีช่องหนึ่ง ต้องสัมภาษณ์ดาราที่เก่งมาก เขาพูดตลอดเวลาจนเราไม่รู้จะแทรกตรงไหน
พิธีกรมืออาชีพ ดาราที่เป็นพิธีกร และเอ็มซีจะต่างกันทางการพูด
วันหนึ่งเคยรับงานมากที่สุดกี่งาน?
: 3 งาน คืองานเดินแบบตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงเที่ยง ตอนบ่ายถ่ายพอร์ตเทรตถึงห้าโมงเย็น แล้วก็รับงานพิธีกรต่อถึงสี่ทุ่ม
แต่รับงานโหดๆ แบบนี้ไม่บ่อย เพราะว่าเหนื่อย ครั้งเดียวก็เกินพอ ก็กลัวคนคิดว่าหยิ่ง แต่ความจริงแล้วเรามีปัญหา ปวดหลัง ปวดไหล่
หมอนรองกระดูกมีปัญหาซึ่งเป็นผลสะสมจากการใส่รองเท้าส้นสูงยืนนานๆ ซึ่งการได้เงินมาแล้วเสียเงินรักษาเป็นหมื่น มันก็ไม่คุ้ม
คิดว่าสังคมไทยตอนนี้มองพริตตี้อย่างไร?
ตอนนี้ดีขึ้น นับถอยหลังไป 3 ปี สังคมยังมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ง่าย โชว์เรือนร่าง เพราะเมื่อก่อนเราเห็นแต่เปลือกนอก ไม่มีสื่อให้ความสนใจ
แต่ต๊อปรู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มีคนออกมาด่าว่าพริตตี้ สื่อเริ่มเปิดพื้นที่ให้เราได้พูด ได้บอกความเป็นตัวตน ได้บอกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวงการ ให้สังคมรู้เบื้องลึกของอาชีพนี้มากขึ้น สังคมก็มองวงการนี้ดีขึ้น
วงการพริตตี้มีคนทุกประเภททั้งที่ดีและไม่ดี ส่วนคนที่เรียบร้อยแบบผ้าพับไว้คงไม่มี หันไปทำอาชีพอื่น เพราะวงการนี้เป็นวงการที่คนอยากแต่งตัวสวยๆ ยืนบนเวที ท่ามกลางแสงไฟ
ถามว่าต้องแรงไหม ไม่ต้อง แต่เป็นคนรักสวยรักงาม ชอบพบปะผู้คน มีมนุษยสัมพันธ์
” เป็นอาชีพที่ให้อะไรกับเราเยอะมาก”
กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์ – เรื่อง เชตวัน เตือประโคน – ภาพ